สถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นสถานการณ์ที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะตั้งแต่กลางเดือน ก.ค.จนถึง ณ วันนี้ มีเหตุความรุนแรงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีเป้าหมายเดิมๆ เช่น ตำรวจ ทหาร อาสาสมัครักษาดินแดน อาสาสมัครทหารพราน ผู้นำท้องที่ และประชาชนคือ เหยื่อรายวัน
มีเหตุการณ์ที่น่าสนใจคือ การโจมตีฐานชุดคุ้มครองตำบล (ชคต.) บ้านบาโย หมู่ 8 ต.บาโระ อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งเป็นชุดคุ้มครองตำบลที่มีผู้นำท้องที่ อาสาสมัคร และ ชรบ.จำนวน 22 คน ทำหน้าที่คุ้มครองตำบลตามนโยบายการรักษาความสงบของ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า
ในวันเกิดเหตุคนร้าย หรือ “แนวร่วม” บุกเข้ายึดฐานได้อย่างละม่อม เพราะไม่มีการต่อสู้ขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ในฐานปฏิบัติการ และคนร้ายสามารถยึดปืนประจำกายของเจ้าหน้าที่ไปได้ 8 กระบอก โดยที่เจ้าหน้าที่ไม่ได้สูญเสียชีวิต
เหตุผลที่ไม่มีใครสูญเสียชีวิต เพราะไม่มีการต่อสู้ขัดขวาง และอีกเหตุผลหนึ่งคือ เจ้าหน้าที่เป็น “มุสลิม” ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ “ไทยพุทธ” เชื่อว่านอกจากคนร้ายจะยึดอาวุธปืนแล้ว เจ้าหน้าที่ทั้งหมดคงต้องจบชีวิตด้วยวิธีการที่โหดเหี้ยม เช่น การฆ่าแล้วเผา อันเป็นวิธีการ “ละลายฐาน” ตามแบบฉบับของคนร้ายที่ปฏิบัติต่อเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นคนต่างศาสนิกนั่นเอง
แม้ว่าการถูกละลายฐานครั้งนี้จะเป็นการสูญเสียเพียงอาวุธปืนจำนวนหนึ่ง และเป็นข่าวไม่ใหญ่นัก เพราะไม่ใครใครเสียชีวิต แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องใหญ่ และสำคัญยิ่ง เนื่องจากในหลายพื้นที่หลายอำเภอของ 3 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส กับ 4 อำเภอของ จ.สงขลา คือ จะนะ เทพา นาทวี และสะบ้าย้อย มีชุดคุ้มครองตำบลอยู่เป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งเป็นชุดคุ้มครองตำบลที่หัวหน้าชุดเป็นผู้นำท้องที่ เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) และ ชรบ. โดยไม่มีกำลังหลักที่เป็นทหารพราน ทหาร และตำรวจร่วมเป็นกำลังหลัก
ซึ่งชุดคุ้มครองตำบลที่มี “จุดอ่อน” และมี “ช่องโหว่” เหล่านี้ อาจจะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไปของกลุ่มคนร้าย และอาวุธของเจ้าหน้าที่เหล่านี้อาจจะกลายเป็นอาวุธของคนร้าย โดยถูกนำมาใช้ในการประหัตประหารเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน
การที่ชุดคุ้มครองตำบลบาโระ ถูกคนร้ายละลายฐานอย่างง่ายดาย อย่าได้กล่าวโทษว่าเจ้าหน้าที่ของชุดคุ้มครองตำบลว่าไม่มีประสิทธิภาพ เพราะขีดความสามารถ ขวัญ และกำลังใจของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ประกอบเป็นชุด ชคต.ยังเทียบกันไม่ได้กับคนร้าย หรือแนวร่วม รวมทั้งความไม่พร้อม ความหละหลวมของชุด คชต.ที่สุดท้ายแล้วเลือกที่จะรักษาตัวรอดเป็นสำคัญ
ถ้าจะถามหาคนผิดจริงๆ คือ หน่วยงานที่รับผิดชอบโครงการชุดคุ้มครองตำบลที่ปล่อยให้มี ชคต.ที่ไม่มีความพร้อม ไม่มีกำลังหลัก สภาพที่ตั้งฐานปฏิบัติการที่ไม่อยู่ในสภาพของฐานปฏิบัติการที่แท้จริง จึงถูกละลายอย่างง่ายดาย ดังนั้น หน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเร่งตรวจสอบ และป้องกันอย่าให้เกิดเหตุ “ซ้ำรอย” กับชุด ชคต.ในตำบลอื่นๆ ขึ้นมากอีก รวมทั้งเร่งปิดจุดอ่อน และช่องโหว่ของชุด ชคต.ให้มีความเข็มแข็ง มีความพร้อม เพื่อเป็นการป้องกันการสูญเสียชีวิต และอาวุธให้กับคนร้ายอีกต่อไป
ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นคือ การที่ฝ่ายความมั่นคงมีคำสั่งบังคับให้พื้นที่ 3 จังหวัด 4 อำเภอห้ามใช้ถังแก๊สที่เป็นถังเหล็ก น้ำหนัก 15 กิโลกรัม เพื่อเป็นการป้องกันคนร้ายใช้ถังแก๊สดังกล่าวประกอบเป็นระเบิดแสวงเครื่องในการก่อวินาศกรรม ซึ่งในประเด็นการห้ามมีการจำหน่าย และครอบครองถังแก๊สหุงต้มที่เป็นถังเหล็ก กอ.รมน.เคยมีความคิดที่จะห้ามใช้มาแล้วหลายปี แต่ไม่สำเร็จ ครั้งนี้ที่สำเร็จได้อาจจะมาจากการใช้อำนาจของ คสช.เป็นสำคัญ
แม้ว่าจะมีผู้ไม่เห็นด้วยโดยอ้างว่าระเบิดแสวงเครื่องส่วนใหญ่ที่คนร้ายใช้ในการก่อวินาศกรรมเป็นถังขนาดเล็ก และนอกจากถังแก๊สแล้ว คนร้ายยังใช้ถังดับเพลิง กล่องเหล็ก และวัสดุอื่นๆ แม้แต่ท่อพีวีชี และขวดต่างๆ ประกอบเป็นระเบิดแสวงเครื่องได้ทั้งสิ้น
แต่การห้ามขายแก๊สที่บรรจุถังโลหะ หรือถังเหล็ก 15 กิโลกรัม ก็ถือว่าเป็นมาตรการนำร่องที่ กอ.รมน.มุ่งหวังในการสกัดกั้นการนำถังแก๊สเพื่อใช้ในการผลิตระเบิดแสวงเครื่อง เพื่อที่จะลดความสูญเสียของส่วนรวม ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรสนับสนุน แม้ว่าจะเกิดความไม่ชอบใจ และอาจจะไม่สะดวกในช่วงแรกๆ แต่ถ้าทำแล้วสามารถทำให้สถานการณ์ความรุนแรงลดลงได้จริง คนในพื้นที่คือ ผู้ได้ประโยชน์
รวมทั้งการที่ได้มีการบังคับให้โทรศัพท์มือถือต้องมีการจดทะเบียน ส่วนผู้ไม่ขึ้นทะเบียนไม่สามารถใช้โทรศัพท์ได้อีกต่อไป อาจจะทำให้การใช้โทรศัพท์มือถือในการจุดชนวนระเบิดได้ยากมากขึ้น เพราะ เจ้าหน้าที่สามารถเก็บหลักฐานได้ว่าเป็นโทรศัพท์ของใคร เกี่ยวพันกับผู้ใด
ดังนั้น สิ่งที่ต้องติดตามคือ หลักจากมีการห้ามใช้ถังแก๊สที่เป็นโลหะ หลังจากที่โทรศัพท์มือถือต้องจดทะเบียน ระเบิดแสวงเครื่องที่จุดชนวนด้วยโทรศัพท์มือถือจะหมดไปหรือไม่ คนร้ายหรือแนวร่วมจะเปลี่ยนวิธีการใหม่ด้วยการนำถังแก๊สมาจากนอกพื้นที่ 3 จังหวัด หรือนำถังแก๊ส และโทรศัพท์มาจากประเทศมาเลเซียที่มีชายแดนติดกัน และหาสิ่งของเหล่านี้ได้ง่ายกว่าเข้ามาแทนที่
หากเป็นเช่นนั้นก็แสดงให้เห็นว่า มาตรการในการป้องกันของ กอ.รมน.ยังเป็นการ “เกาไม่ถูกที่คัน” ซึ่งต้องมีการขบคิด หรือแก้โจทย์กันใหม่อีกครั้ง
แต่สิ่งที่ทุกคนอยากรู้คือ อะไรคือสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ของจังหวัดชายแดนภาคใต้ทวีความรุนแรงขึ้นอีกครั้ง เหตุร้ายรายวันที่เคยลดลงอย่างฮวบฮาบ ทำไมเวลานี้จึงเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว และดูเหมือนว่า เจ้าหน้าที่รัฐจะตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำ หรือถอยมาตั้งรับ และมีความสูญเสียมากขึ้น
เป็นเพราะใกล้วันที่จะมีการนัดเพื่อ “พูดคุยสันติสุข” ระหว่างตัวแทนรัฐไทย กับตัวแทนของขบวนการแบ่งแยกดินแดนต่างๆ ที่มีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกหรือไม่ หรือเป็นเพราะการใช้กระบวนการยุติธรรมในการ “พักโทษ” นักโทษบางคนที่ถูกโจมตีว่า เป็นการเลือกในการใช้ความเป็นธรรมที่ฝ่ายตรงข้ามมองว่าไม่ครอบคลุม และไม่มีประโยชน์
อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบควรบอกกล่าวต่อประชาชนให้ชัดเจน
เครดิตข่าว: http://manager.co.th/South/ViewNews.aspx?NewsID=9580000089668
EmoticonEmoticon
Note: Only a member of this blog may post a comment.